วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ซื่อสัตย์ สุจริต

3. ซื่อสัตย์ สุจริต


  ความซื่อสัตย์สุจริต  หมายถึง ผู้ที่มีความประพฤติตรงต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ  มีความจริงใจ ไม่มีความลำเอียง ไม่ทุจริตคดโกง ทั้งทางตรงและทางอ้อม รู้หน้าที่การงานของตนเอง ปฏิบัติเต็มกำลังความสามารถ  ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
            ผู้ที่จะมีความซื่อสัตย์สุจริตได้ ต้องมีคุณธรรมประจำ กาย วาจา ใจ คือ
            ๑) มีสัจจะ หมายถึง การคิด การพูด การทำแต่ความจริง
            ๒) มีความเป็นธรรม หมายถึง มีใจเป็นกลาง
            ๓) ไม่มีอคติ หมายถึง ไม่มีความลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง
            ๑) ผู้ที่มีสัจจะ คือผู้ที่มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น เช่น จะคิด จะพูด จะทำ สิ่งใดก็ต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลุลวงไปด้วยดี สิ่งนั้นต้องเป็นความจริง มีประโยชน์กับตนเองผู้อื่น และส่วนรวม จะประกอบกิจการใดๆ ก็มีความจริงจัง จริงใจ ต่อเนื่อง มีความซื่อตรงต่อเวลาต่อหน้าที่ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ผู้อื่น องค์กร สังคม และประเทศชาติบ้านเมือง
            ๒) มีความเป็นธรรม เป็นผู้ที่รู้เหตุ รู้ผล รู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดี เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์   ย่อมทำถูกบ้าง  ผิดบ้าง เพราะมีสติปัญญาแตกต่างกัน ผู้ที่มีใจเป็นกลาง  ต้องส่งเสริมสนับสนุน ผู้ที่ทำถูกทำดีแล้วให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป  และให้โอกาสผู้ที่ทำผิดทำชั่ว โดยช่วยอบรมสั่งสอน ให้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง  ให้ละชั่วประพฤติดี ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก  นี้คือ คุณสมบัติของ  ผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ คือ  “ความเป็นธรรม”
             ๓)  ไม่มีอคติ หมายถึง  ไม่มีความลำเอียง  ๔  ประการดังนี้
                        ๑) ไม่ลำเอียงเพราะรัก
                        ๒) ไม่ลำเอียงเพราะเกลียด
                        ๓) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
                        ๔) ไม่ลำเอียงเพราะโง่เขลา
            ผู้ที่มีอคติ   คือมีความลำเอียง  หรือความเอนเอียง   เข้าข้างใดข้างหนึ่ง  ไม่เป็นกลาง  ไม่มีความยุติธรรม
            ๑) ไม่ลำเอียงเพราะรัก หมายถึง คนที่เรารักทำความผิดเราก็ต้องตัดสินว่าผิด คนที่เรารักทำถูกเราก็ตัดสินว่าถูก เพราะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
            ๒) ไม่ลำเอียงเพราะเกลียด คนที่เราเกลียดทำถูกเราต้องตัดสินว่าถูก คนที่เราเกลียดทำผิดเราก็ต้องตัดสินว่าผิด เพราะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
            ๓) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว ผู้ที่มีอำนาจทำผิด เราก็ต้องตัดสินว่าผิด ผู้ที่มีอำนาจมีอิทธิพลทำถูกเราก็ต้องตัดสินว่าถูก เพราะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่เกรงกลัวอำนาจอิทธิพลใดๆ
            ๔) ไม่ลำเอียงเพราะโง่เขลา ผู้ใดที่กระทำความผิด เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ ไม่หูเบาเชื่อคนง่าย ไม่ตัดสินคดีความด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ต้องมีความเป็นธรรม เป็นกลาง และซื่อสัตย์ต่อตนเองและหน้าที่ของตน
            ผู้ที่มีคุณธรรมดังที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ มีสัจจะ การคิด การพูด การทำแต่ความจริง มีความเป็นธรรม คือ มีใจเป็นกลาง ไม่มีอคติ คือ ไม่ลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ที่มีคุณธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ จะเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อหน้าที่การงาน ต่อองค์กร ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
            ส่วนผู้ที่มีอคติ คือมีความลำเอียงหรือเอนเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเป็นกลาง
            ๑) ลำเอียงเพราะรัก คือคนที่ตนรักทำผิดก็ตัดสินว่าถูก
            ๒) ลำเอียงเพราะเกลียด คนที่ตนเกลียด ทำถูกก็ตัดสินว่าผิด
            ๓) ลำเอียงเพราะกลัว ผู้ที่มีอำนาจมีอิทธิพลทำความผิดก็ตัดสินว่าถูก
            ๔) ลำเอียงเพราะโง่เขลา จะตัดสินปัญหาใดๆก็ผิด เพราะเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย ไม่มีสติปัญญา ไม่มีคุณธรรม ตัดสินปัญหาต่างๆด้วยอารมณ์ ไม่มีเหตุผล ไม่มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ หน้าที่การงาน  ไม่มีความจริงใจต่อตนเอง และผู้อื่น ทำให้สังคมเสื่อมโทรม ไม่ควรเคารพนับถือ ไม่ควรคบค้าสมาคม นี้คือ  ผู้ที่ขาดคุณธรรมทั้ง ๓ อย่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น